เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือน ควรจัดการการเงินอย่างไร? | TAXBugnoms

Last updated: 27 เม.ย 2566  |  1202 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือน ควรจัดการการเงินอย่างไร? | TAXBugnoms

สิ่งที่ผมพลาดที่สุดในการเป็นมนุษย์เงินเดือน คือ การคิดว่าจุดเริ่มต้นมันไม่มีความหมาย และสนใจแค่ปลายทางที่จะถึงเท่านั้น แหม่ ... คนในวัยหนุ่มที่มีไฟร้อนแรงอย่างเรา สิ่งที่คิดไว้ก็มีแต่การเผาไหม้ (อะไรวะ) การใช้ชีวิตไปข้างหน้าให้ไวที่สุด เพื่อให้เราไปหาจุดหมายปลายทางที่ต้องการ

แต่การใช้ชีวิตไปข้างหน้ากับการวางแผนอนาคตมันเป็นเรื่องที่ต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการการเงินของตัวเราเองที่คนส่วนใหญ่ลืมนึกถึง นั่นคือ


ภาระชีวิต... 

คงปฎิเสธความจริงไม่ได้ว่า คนแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนอาจจะต้องใช้ความพยายามหรือดิ้นรนมากกว่าคนอื่น ในขณะที่บางคนแทบจะไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย ถ้าหากเราพบว่าตัวเองมีภาระชีวิตมากกว่าคนอื่น มันจึงจำเป็นที่เราต้องรีบจัดการให้เรียบร้อยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะคนเราทุกคนมันจะมีภาระชีวิตเพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ ในวันที่เราเติบโตขึ้น

ว่าแต่ภาระชีวิตคืออะไร? มันสำคัญกับเรายังไง? ผมขอแยกออกเป็น 2 ด้าน คือ ภาระด้านเวลา กับ ภาระด้านการเงิน 

ภาระด้านเวลา คือ การใช้เวลากับเรื่องอื่นนอกจากงาน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ครอบครัว หรือ คนที่เขา (มีโอกาส) ฝากชีวิตให้เราดูแลในอนาคต เรื่องพวกนี้อาจจะมาถึงในไม่ช้า แต่ว่าผมอาจจะแนะนำทั้งหมดไม่ได้หรอกครับ ถ้าให้แนะนำง่ายที่สุดก็คงเป็นคำพูดสั้นๆ ว่า “พูดคุยกันให้ดี” เพราะมันเป็นเรื่องที่แต่ละคนเจอมาไม่เหมือนกัน และการ “สื่อสาร” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่จะทำให้ภาระด้านเวลาของเราน้อยลง 


ถ้าให้พูดแบบไม่อายปากก็คือผมเองก็ทำไม่ได้ดีและคิดว่าเป็นจุดที่ควรปรับปรุงอยู่เสมอเหมือนกันครับ
แต่เรื่องอีกด้านหนึ่งอย่าง “ภาระด้านการเงิน”ผมมองว่าค่อนข้างจะมีรูปแบบบางอย่างที่สามารถแนะนำได้ชัดเจนกว่า

ดังนั้นเนื้อหาของเราจะเริ่มต้นจากส่วนนี้เป็นหลักผสมกับภาระด้านเวลาที่ผมคิดว่าประสบการณ์น่าจะเป็นประโยชน์ 

โดยสิ่งแรกทีอยากให้จัดการและสร้างวินัยกับตัวเองเลย คือ “การทำบัญชีรายรับรายจ่าย” ครับ เฮ้ย มันง่ายไปหรือเปล่า (หลายคนอาจจะคิดแบบนี้) แต่เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งปิดหนังสือเล่มนี้ ลองอ่านต่ออีกสักหน่อย




เหตุผลที่ผมแนะนำให้เริ่มต้นจากจุดนี้ เพราะว่า ยิ่งเราทำดีแค่ไหน ละเอียดมากเท่าไร เราจะสามารถจัดการภาระการเงินได้ดีขึ้นครับ 

เอาจริง ๆ บัญชีรายรับรายจ่าย ที่ผมกำลังจะอธิบายต่อจากนี้ ไม่ใช่การบันทึก รายได้แต่ละวัน กิน ใช้ เก็บ เพื่อให้เห็นตัวเลข แต่มันคือ การบันทึกไลฟ์สไตล์เพื่อรวบรวมออกมาเป็นข้อมูลในการมองเห็นฐานะการเงินของเรา และวิธีที่เราจัดการกับมัน

ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้เราเข้าใจว่า ภาระที่เรามีนั้น อันไหนเป็นภาระจริง ๆ และ อันไหนเป็นสิ่งที่เราจัดการได้ดีขึ้น เพื่อที่จะกำหนดในขั้นต่อไปได้ว่า เราจะต้องมีรายได้เท่าไรเพื่อให้อยู่รอด และควรสำรองไว้เท่าไรเพื่อให้การเงินในชีวิตต่อจากนี้ไม่ติดขัด



ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้ครับ... สมมติว่าเราบันทึกรายรับรายจ่ายออกมา  1 เดือน ได้ ข้อสรุปตามนี้

  • รายได้ 15,000 บาท ได้รับเงินจริง 13,500 บาท เพราะต้องหักประกันสังคม 750 เงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 5% 750 บาท
  • รายจ่ายที่จดรวบรวมมาได้ตลอดทั้งเดือนอีก 13,000 บาท
     - ค่ากิน 7,000 บาท
     - ค่าเดินทาง 3,000 บาท
     - ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ 3,000 บาท
  • เหลือเงินอยู่ 500 บาทเป็นเงินเหลือตอนสิ้นเดือนนี้พอดี
ตัวเลขทั้งหมดที่เห็นมันคือข้อมูลเท่านั้น ว่าคนนี้มีรายได้เท่านี้ ใช้จ่ายเท่านี้ แต่สิ่งที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้หลังจากเห็นข้อมูลทั้งหมดนี้ คือ การใช้เงินแบบนี้มันทำให้ชีวิตเราโอเคหรือเปล่า
  1. โอเคดิวะ เหลือตั้ง 500 บาท บางคนไม่เหลือเลยนะเว้ย
  2. เฮ้ย เราแม่งกินแพงไปว่ะ ถ้าลดค่ากินได้ เงินก็เหลือมากกว่านี้ 
  3. เดินทาง 3,000 บาท แพงอยู่นะ แก้ยังไงได้บ้าง? 
  4. เราใช้จ่ายส่วนตัวอะไรวะ 3,000 บาท (ไปหารายละเอียดดู) 
  5. ฯลฯ
จากข้อมูลที่มีสั้นๆ เราอาจจะตัดสินอะไรไม่ได้มากกว่านี้ แต่ถ้าหากเรามองเห็นข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้ เราจะมีคำถามแตกต่างกันไป เช่น
  • ค่ากินจำนวน 7,000 บาท ถ้าวางแผนดี ๆ มันลดได้อีก 500-2,000 บาทนะ
  • ค่าเดินทาง 3,000 บาท ที่มันแพงเพราะดันจ่ายค่าแท็กซี่ไปหลายรอบ
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 3,000 บาท จริง ๆ ถูกเพื่อนยืมไป 1,000 บาทแล้วไม่จ่าย 
  • ฯลฯ


อ่า ... ขอออกตัวให้ชัด และบอกตรงๆด้วยความเข้าใจว่า เหตุผลที่ผมยกมาอธิบายตรงนี้ ไม่ได้เป็นการต่อว่า หรือบอกว่ามันคือสิ่งที่ผิดและไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่า ห้ามกินหรูอยู่แพงแต่จงห่อข้าวใส่ใบตองไปกินที่บริษัท อย่านั่งแท็กซี่นะต้องนั่งรถเมล์แดงแม้จะร้อนชิบหายแต่ก็ต้องอดทนเพื่อเงินก้อน หรือ ไอ้เพื่อนคนที่เราให้ยืมชีวิตเราลำบากจะตายห่าแล้ว จะมาให้กูใจดำห้ามให้เงินมันยืมเหรอ 

ข้อมูลที่ว่ามานี้ และการพิจารณาข้อมูลทั้งหมด เราไม่ได้ต้องการตัดสินกันที่จุดของการใช้เงินว่าแบบไหนถูกหรือผิด แต่มันคือตัวอย่างชีวิตที่เราต้องหาจุดที่ลด “ภาระ” ของเราลง ภายใต้สถานการณ์การเงินที่จำกัด ว่าเราสามารถจัดการอะไรได้บ้าง ในวันที่เรายังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือนได้ เราจะเหลือเงินได้มากที่สุดเท่าไร ภายใต้ข้อจำกัดที่เรามี 
ถ้าพูดให้เครียดกว่านี้ เรายังไม่ได้คุยกันที่ข้อมูลของอนาคตที่ต้องใส่ภาระเพิ่มเติมเข้าไปเลยครับ เช่น
  1. ถ้าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราต้องใช้เงินด่วนขึ้นมาสัก 5,000 บาทจะทำยังไง
  2. ในอนาคตอีกไม่กี่ปี ถ้าเรามีคนในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู จะเอาเงินจากไหนดี
  3. เงินเก็บสำหรับสิ่งที่เราอยากทำในอนาคตล่ะ ซื้อบ้าน รถ เกษียณ ฯลฯ เราจะหาจากไหน 
  4. ฯลฯ 
 
แต่ไม่ต้องกังวลใจไปนะครับ หากยังตอบไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะและทุกวันนี้ชีวิตกูก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว จะเอาอะไรมากมาย

มึงเป็นใครไอ้คนเขียน จะมาบอกอะไรกู ...  

ผมจะบอกว่าผมเข้าใจดีครับ และไม่แปลกเลยครับ (ตบบ่าแปะๆ) เพราะวันนั้นผมเองก็ตอบเรื่องพวกนี้ไม่ได้หรอก มันยากไป ใครจะไปรู้ แต่สิ่งที่อยากบอกก็คือ ถ้าตอนนั้นรู้และคิดให้ลึก ชีวิตกูก็คงสบายกว่านี้ (อันนี้บอกตัวเองนะครับ ฮา)

ดังนั้น ถ้าแนะนำอะไรสักข้อหนึ่งแบบสั้นๆ  ผมคงแนะนำว่า “เริ่มหัดนิสัยเก็บเงินให้ได้ไวที่สุด”
 
QUOTE : เราไม่ได้ต้องการตัดสินกันที่จุดของการใช้เงินว่าแบบไหนถูกหรือผิด แต่มันคือตัวอย่างชีวิตที่เราต้องหาจุดที่ลด “ภาระ” ของเราลง
 
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้